035 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๖

การศึกษา หรือว่าศีลศึกษา ปัญญาศึกษา ที่เป็นหลักแกน ของศาสนาพุทธนี้ จึงจะไปเรียกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็ตาม ถ้าเราเข้าใจ อย่างถูกต้องแล้ว ไม่ใช่การศึกษา เพียงแต่ว่า เราจะอยู่กันอย่าง ไม่อุตสาหะวิริยะ เราจะอุตสาหะวิริยะมาก ผู้ที่จะสาธยายปริยัติ ผู้ที่จะพยายาม ให้รู้หลัก รู้เกณฑ์ รู้ศีล รู้เหตุ รู้ผล รู้สภาพของ ความหมายต่างๆ ที่จะเอามาไว้ สำหรับปฏิบัติ รู้หลักแล้วก็ อธิบายหลัก ขยายความ ให้เกิดศรัทธา เลื่อมใส ให้เกิดปัญญา ที่เป็นทิฏฐิ เพื่อหยั่งลึก เพื่อที่จะกระปรี้กระเปร่า มีวิริยะอุตสาหะ เพราะเมื่อมันมั่นใจ มันเชื่อดี มันเชื่อถือ มันก็จะเต็มใจทำ แม้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มันก็พยายาม เพราะว่ามันเป็นทาง แห่งประโยชน์ ที่เราคิดว่า ควรจะได้

เพราะฉะนั้น การบรรยาย การบอกหลัก ขยายความของหลัก อธิบายให้พิสดาร จำแนก เพื่อที่จะให้คน ที่ฟังหลักการ วิธีการ ให้ชัดแจ้ง ให้ถูกต้อง ให้เข้าใจ ลึก จนเกิดศรัทธา ดังกล่าวแล้ว จนเกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่น พอใจ เกิดฉันทะ ยินดีจะกระทำ มันก็จะเกิด คุณค่าต่อไป

การปฏิบัติโดยที่ ไม่เกิดถึงฉันทะ ไม่เกิดถึงศรัทธา ก็จำเป็น ที่จะต้อง ขยายศีล ขยายหลัก ขยายความหมาย ขยายด้วยปริยัติ พยายามพูด พยายามกระจายเสมอ มีมุมมีเหลี่ยม มีอะไร ก็พยายามแนะ พยายามฉีกชี้ พยายามที่จะ ชอนไชเข้าไป ให้เราได้รับ ความรู้สึกลึกซึ้ง ขึ้นไปจริงๆ แล้วเรา ก็จะเกิดศรัทธา เกิดความเชื่อถือ เกิดความเชื่อมั่น ทำให้เราเกิดฉันทะ ดังกล่าวแล้ว

ทีนี้เมื่อผู้ใด ได้ปฏิบัติ แม้ยังไม่ถึงขั้น ฉันทะ แต่ก็ยังมีหลักใจ ของตนเองว่า มันน่าจะได้ อุตสาหะวิริยะน่ะ สิ่งนี้ แม้เราเข้าใจ ยังไม่ลึกซึ้ง เพียงพอ จนกระทั่ง ถึงขั้นมีน้ำหนัก ของความเชื่อ ในจิตวิญญาณ ของเราเอง น้ำหนักผลักดัน ให้ตัวเราเอง เราก็มีเลือดแห่ง ความวิริยะ อุตสาหะเอง แล้วก็มีปัญญา ในตนอยู่ว่า มันต้องดีแน่ๆ แล้วเราก็ผลักเบน หรือว่าพยายาม ขับเข็นตัวเราเอง ให้มีการปฏิบัติ อุตสาหะวิริยะ ถ้าหมู่พวก ที่ทำทางที่ถูกทาง มีภาคปฏิบัติ ปฏิปทาที่ถูกธรรม ถูกทางอยู่แล้ว มันก็ไปได้ ดีแน่

แม้แต่ผู้ที่มีปัญญา จะพยายามชี้ชวน ชักนำ ถ้าเผื่อว่า ผู้ที่ปฏิบัติ หรือ ผู้ที่ศึกษานั้น ไม่ปฏิบัติ ด้วยอุตสาหะวิริยะ แม้รู้ แม้ลึกซึ้ง แม้เชื่อมั่น แม้ศรัทธาฉันทะ แต่ก็ไม่ขับเข็น ไม่ขับเคลื่อนตัวเอง ให้ปฏิบัติ อุตสาหะต่อสู้ มันก็ไปได้ช้าอีก เช่นเดียวกันน่ะ

เพราะฉะนั้น ภาคปฏิบัติก็ดำเนินไป ด้วยตนเอง เป็นหลักใหญ่ หมู่ฝูง ก็ชักจูงนำพากัน ให้มีกลุ่มมีหมู่ จูงดึงกันไป ถ้าปฏิบัติคนเดียว มันอ้างว้างว้าเหว่ มันไม่ค่อยมีฤทธิ์ มีแรง ก็จริงอยู่ เพราะฉะนั้น หมู่กลุ่ม มารวมกลุ่มกัน เป็นมิตรดี เพื่อนดี สหายดีนั้น จะพากันนำ พากันทำ พากันเป็นไป

ผู้ใดที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นภันเต เป็นผู้ที่ได้พยายาม ได้กระทำไป อย่างเห็นมรรค เห็นผลแล้ว ก็จะพยายาม นำพากันจริงๆ เข็นกันไป อุตสาหะ พาทำกันไป เพื่อที่จะให้เรา ได้ขัดเกลา ได้ซักซ้อม ได้ฝึกฝน พากเพียรน่ะ เพราะว่าตัวพากเพียร ตัวปฏิบัติ ตัวฝึกฝนอบรมนี้ เป็นทางที่จะไปถึง ขั้นบรรลุจริง ได้แต่เรียนปริยัติ เหตุผล หลักการ รู้แสนรู้ เข้าใจแสนเข้าใจน่ะ เกิดปัญญารอบถ้วนยังไง ก็ตามแต่ เป็นปัญญา เพียงนึกคิดปริยัติ หรือแต่แค่รู้หลักศีล ศึกษาแต่ทฤษฎี ศึกษาแต่บัญญัติ มันไม่ใช่ความจริง เพราะฉะนั้น ปฏิบัติจึงเป็น ตัวแกนกลางที่สำคัญ เมื่อปฏิบัติ ไปถึงรอบถึงขั้น มันจึงรอบสูงได้ ได้แต่คิด บางทีก็วกวน บางที ก็ต่ำตื้นมาได้ แต่ถ้าเผื่อว่า ปฏิบัติแล้ว มันจะเป็นชั้น เป็นเชิง ลึกซึ้งซับซ้อน ขึ้นไปจริงน่ะ ขอให้พวกเราได้มั่น ขอให้พวกเรา ได้แข็งแรง ในการอุตสาหะวิริยะ ปฏิบัติให้มาก การปฏิบัติในหมู่ พวกเรา ปฏิบัติตามสถานที่ ตามสิ่งแวดล้อม ที่มันไม่เหมือนกัน ก็ต้องพยายาม ให้หาประโยชน์ตน ให้ได้ ดังที่เคย วิเคราะห์ให้ฟัง

อย่างสันติอโศก กับปฐมอโศก นี่ต่างกัน เพราะว่าภูมิ สถานที่ ไม่เหมือนกัน มีสิ่งแวดล้อมต่างกัน เราจะต้อง ปฏิบัติอย่างไร ไปในทิศทาง ที่จะเห็นจุดพร่อง เห็นจุดที่จะเจริญให้ชัด จะทำอย่างไร จึงจะเจริญ ไปในทาง ที่ถูกต้อง ทำอย่างไร ถึงจะไม่ถูกฉุด ไปในทางที่มันให้ มันเอื้อ มันอวยเสียด้วย มันจะฉุดไปอย่างไร แม้แต่ทางสันติฯ ก็อาจจะถูกฉุดไปได้ ในทิศทาง ที่มันมีอะไรปรุงมาก สร้างมาก ทำมาก จนกระทั่งเผิน จนกระทั่งตื้น จนกระทั่ง ไม่เกิดคุณค่า

มาในทางปฐมอโศก มีอะไรที่จะฉุดไป มีทางหยุด หยุดมากน่ะ ดึงมาก หลบมาก เลี่ยงมากได้ แล้วเฉื่อยมาก อย่างนี้ เป็นต้น และเราก็ไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดจิตที่ได้ละ หน่ายคลายกิเลส ที่แท้จริง แต่ไอ้ตัวหยุดๆ จมๆ ฝังๆ เหมือนกับ สิ่งที่มันถูกปก ถูกปิด ถูกคลุมเอาไว้เฉยๆ แล้วหลงว่า สิ่งนั้นคือ ความหมดสิ้นกิเลส ไม่ได้น่ะ เราก็จะต้อง รู้ทิศทาง รู้สภาพธรรม รู้สิ่งแวดล้อม รู้องค์ประกอบ ที่สำคัญให้ชัดเจน แล้วเราก็ปฏิบัติ ให้ถูกสัดส่วน ของมันน่ะ ที่ได้เตือนไปแล้วว่า อยู่ที่นี่ จะไปทำเป็นเฉื่อย เป็นชา โดยไม่ขวนขวายมาก มากกว่า เหมือนสันติฯ นั้นไม่ได้ อยู่ในสันติฯ ก็มีแต่เลี่ยง บางคนก็ไม่ปฏิบัติ ปฏิบัติก็เลี่ยง ส่วนที่ทำเกินนั้น มันหาได้ยาก บอกแล้วว่าพวก อัจจารัทธะวิริยะ นี่หาได้ยาก พวกขยันเกิน เพียรเกินนี่ น้อยนักน้อยหนา ที่จะหาได้ มันน้อย มันหายากน่ะ

เพราะฉะนั้น เพียร ส่วนมากก็เพียร ยังไม่ค่อยถึงจุด ที่ควรจะได้ ด้วยซ้ำ ที่ควรจะเป็น เกินจุดเมื่อไหร่ ก็คอยดู กันเถอะ มันหากัน ไม่ค่อยจะได้ง่ายๆ นักหรอกน่ะ แต่มันก็มีได้ เหมือนกันน่ะ

เพราะฉะนั้น ภาคปฏิบัติจึงสำคัญ เราพูด เราแนะ แนะกันทุกมุม ทุกเหลี่ยมทุกเชิง เท่าที่จะทำกันให้รู้ได้ ตามที่ปฏิภาณ ตามที่เราจะสามารถ แนะกันให้ครบถ้วน อันไหนควรซ้ำ ซ้ำ อันไหนควรขยาย ขยาย ทำให้รู้ให้แจ้ง ให้จริง แล้วเราก็ จะรู้ได้ด้วยตน เป็นปฏิเวธธรรมด้วย เป็นอธิปัญญา รู้มรรค รู้ผล รู้ของจริง ตามความเป็นจริง ว่ามันละ มันลด มันสบาย มันว่าง มันโปร่ง มันโล่ง มันขาด มันหลุด คำพวกนี้ เป็นคำที่มี สภาวะรองรับ เมื่อปฏิบัติถึงที่แล้ว แต่ถ้าเผื่อว่า ปฏิบัติไม่ถึงที่ ก็ไม่มี สภาวะรองรับ

เพราะฉะนั้น ปัญญาหรืออธิปัญญาตัวปลาย หรือปฏิเวธธรรม ก็คือแทงทะลุรอบ แจ้งชัดเห็นจริง มีสภาวะ รองรับ ไม่ว่าจะเป็น สูญภาพ สูญตา ก็มีสภาวะรองรับ ไม่ว่าจะเป็น สภาพอนัตตา ไม่มีตัวตน ก็มีสภาวะ รองรับ นิพพาน นิโรธ อะไร ดับสนิทอะไร ก็มีสภาวะรองรับ และสิ่งที่เป็น ที่มีอยู่จริง ก็ต้องรู้ว่า สิ่งที่เป็น ที่มีอยู่จริง คือความเจริญ คือกุศลนั้นถึงพร้อม และเจริญยิ่งๆ ไพบูลย์อยู่ เราก็จะต้องรู้ สิ่งที่มี และสิ่งที่ไม่มี ให้ครบถ้วนพร้อม เป็นอุภโตภาค คือ ๒ ส่วน ให้ชัดเจนน่ะ

ก็ขอให้ทุกคนได้ศึกษา ฟังปริยัติ ฟังหลักศีล ฟังคำอธิบายให้ดี แล้วนำไป ประกอบ ให้เหมาะสมกับตน ให้เจริญๆ เป็นปฏิเวธธรรม หรือถึงอธิปัญญาที่รู้แจ้ง เห็นจริง หรือรู้แจ้ง แทงทะลุรอบด้วย ถ้วนทั่ว ทุกคนเทอญ

สาธุ.